หน้าแรก Sritown.com

ผู้เขียน หัวข้อ: คู่มือไปโรงรับจำนำให้ได้กำไร ของชิ้นไหนได้ราคาสูง?  (อ่าน 1273 ครั้ง)

promotion

  • โจรสลัดจอมลุย / โคโนฮะกลุ่ม 7
  • *
  • กระทู้: 2359



โรงรับจำนำ สถานที่ที่เมื่อเรามีวิกฤติการณ์ทางการเงินต้องไป!
ก่อนไปต้องเตรียมตัวยังไง สินค้าที่วางได้มีอะไรบ้าง แล้วอะไรได้เงินเยอะสุด
วันนี้ปันโปรมีคำตอบให้แล้วค่ะ



ถ้ามีวิกฤติการณ์ทางการเงิน แล้วไม่รู้จะหาเงินจากไหนมายืดชีวิตต่อดี ทางออกง่าย ๆ ของเราชาวหมุนเงินไม่ทันนั่นก็คือ! “โรงรับจำนำ” หรือ “โรงตึ๊ง” นั่นเอง ไม่ต้องรอนาน ไม่ต้องเช็กประวัติทางการเงิน ที่สำคัญดอกเบี้ยถูกกว่าร้านทอง หรือบัตรเครดิตจ้าาาา ขอแค่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีบัตรประชาชน มีสิ่งของมีค่า และมีลายนิ้วมือ ก็เดินเข้าแล้วไปเอาเงินออกมาได้แล้ววว พี่โปรโมชั่นเชื่อว่าเพื่อน ๆ หลายคนอาจจะไม่เคยเข้าโรงจำนำ หรืออยากเข้าไปลองจำนำดูแต่ไม่รู้ว่าวิธีการของมันจะเป็นอย่างไร วันนี้จะมาไขข้อข้องใจค่ะ










จุดเริ่มต้น “โรงรับจำนำ” หรือ “โรงตึ๊ง” มาจากคนจีนใน ร.4

“ตึ๊ง” เป็นภาษาแต้จิ๋ว แปลว่า จำนำ ทำไมถึงต้องเป็นภาษาจีนกันนะ? มันก็เพราะว่าโรงรับจำนำแห่งแรกในประเทศไทย เป็นโรงรับจำนำของเอกชน ที่ดำเนินการโดยคนจีนค่ะ ตั้งขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ในตอนนั้นคนไทยเชื้อสายจีนเวลาเอาของไปจำนำก็จะบอกว่า ไปตึ๊ง หรือ ไปโรงตึ๊ง ส่วนในปัจจุบัน โรงรับจำนำมี 3 ประเภท คือ โรงรับจำนำเอกชน โรงรับจำนำของกรมประชาสงเคราะห์ เรียกว่า “สถานธนานุเคราะห์” (ในช่วงเริ่มแรกใช้ชื่อว่า “โรงรับจำนำของรัฐ” ) และ โรงรับจำนำของเทศบาลหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เรียกว่า “สถานธนานุบาล”







โรงรับจำนำแต่ละที่มีความแตกต่างอย่างไร

โรงรับจำนำแต่ละที่เขาจะมีผู้เชี่ยวชาญตีราคาของที่แตกต่างกัน ดังนั้นแล้วราคาที่ได้ย่อมไม่เท่ากัน ส่วนมากคนทั่วไปจะชอบใช้บริการที่ “โรงรับจำนำเอกชน” เนื่องจากให้ราคาสูงกว่า แต่ถ้าหากใครต้องการจ่าย “ดอกเบี้ย” ที่ไม่แพง “สถานธนานุเคราะห์” หรือ “สถานธนานุบาล” ก็จะตอบโจทย์มากกว่า













โรงรับจำนำ รับ จำนำ อะไรบ้าง

• ทองคำ ทั้งทองแท่ง และทองรูปพรรณ ทองถือว่าเป็นที่ยอมรับของโรงรับจำนำทุกประเภทเลยค่ะ เขาจะให้ราคาดีสุด เมื่อเทียบกับของอย่างอื่น ที่สำคัญ “ดอกเบี้ยถูกกว่า” ไปจำนำที่ร้านทอง



• เครื่องประดับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อัญมณี เพชรพลอย แหวนเพชร ต่างหู สร้อย จี้ ต่าง ๆ (เพชร พลอย ทับทิม มรกต เครื่องเงิน นาก) พวกนี้โรงรับจำนำให้ราคาดี แต่ถ้าเป็นอัญมณีที่หลุดจากเครื่องประดับ แบบนี้ไม่รับค่ะ (ถือว่าเป็นของมันชำรุดแล้วเนอะ)



• สินค้าแบรนด์เนม ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋า รองเท้า นาฬิกา แว่นตา แต่โรงรับจำนำของรัฐอาจจะไม่รับ เนื่องจากขาดผู้เชี่ยวชาญตีราคาค่ะ แต่ถ้าเป็นโรงรับจำนำเอกชนหลาย ๆ แห่ง เขายินดีรับ หรือถ้าขายขาดแนะนำให้
ลดราคาแล้วเป็นของมือสอง หรือปล่อยประมูล ก็อาจจะได้มูลค่ามากกว่าก็เป็นได้ อันนี้ต้องลองเช็กราคาดู



• เครื่องมือช่าง ทั้งสว่านไฟฟ้า เลื่อยไฟฟ้า กระเป๋าอุปกรณ์ช่างครบเซต ของพวกนี้สามารถเอาไปจำนำได้ เพราะส่วนหนึ่งคือของพวกนี้ใช้ประกอบสัมมาอาชีพ โรงรับจำนำเขารู้อยู่แล้วว่ายังไงก็มาไถ่ถอนคืนแน่ ๆ



• เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ถ้าขนมาไหวก็เอามาจำนำได้หมด แต่ที่หลายคนชอบเอามาจำนำกันอย่าง Notebook และ Smartphone ส่วนมากโรงรับจำนำจะไม่รับ มีบางแห่งรับแต่ราคาก็น้อยมาก ๆ แนะนำว่าไปปล่อย
sale เองตามตู้ตามห้างสายไอทีอาจจะได้ราคาดีกว่า





นอกจากทั้ง 5 กลุ่มนี้แล้ว ก็มี พวกเครื่องดนตรี ครกหิน งานศิลปะ ที่เอาไปจำนำได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นแล้วแต่ว่าโรงรับจำไหนแห่งไหนมีคนที่สามารถตีราคาของได้หรือเปล่า อาจจะมีบางแห่งไม่รับนะคะ อย่างพวก พระเลี่ยมทอง โรงรับจำนำของรัฐไม่รับนะ ชัวร์สุดก็ “ทองคำ” นี่แหละค่ะ ที่ได้เงินชัวร์ และได้เงินเยอะที่สุด





วิธีการจำนำ




1.นำทรัพย์สินที่ต้องการจำนำ พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง หรือบัตรที่ทางราชการออกให้

2.เอาของมาให้ผู้เชี่ยวชาญดูว่าถูกลิขสิทธิ์หรือไม่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะประเมินราคาให้ (ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นมีใบรับประกัน, อุปกรณ์เสริม รวมถึงบรรจุภัณฑ์มาครบถ้วน จะทำให้ราคาประเมินสูงขึ้นนะคะ)

3.ลูกค้าสแกนนิ้วเพื่อรับเงิน และตั๋วรับจำนำ (เก็บตั๋วให้ดียิ่งชีพ ถ้าหายจะยุ่งยาก)

4.ลูกค้าสามารถไถ่ถอน และส่งดอกเบี้ยได้ ภายใน 4 เดือน 30 วัน








วิธีคิดดอกเบี้ยจำนำ


การคำนวณอัตราดอกเบี้ยของแต่ละโรงรับจำนำนั้นไม่เท่ากันค่ะ โรงรับจำนำเอกชนก็จะสูงหน่อย (แต่ก็คิดตามที่ พ.ร.บ.โรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 ได้กำหนดไว้) แต่ถ้าเป็นโรงรับจำนำของรัฐบาล ก็จะดอกต่ำ เพราะเริ่มแรกโรงรับจำนำเขาตั้งใจมีไว้เพื่อช่วยเหลือประชาชน ยกตัวอย่าง “สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร” ก็จะคิดดอกเบี้ยรับจำนำในอัตราที่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505



กล่าวคือ ตาม พ.ร.บ.โรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 กำหนดห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา ดังนี้ + เงินต้นไม่เกิน 2,000 บาท อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 2.00 ต่อเดือน + เงินต้นส่วนที่เกิน 2,000 บาท อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1.25 ต่อเดือน เพื่อเป็นการป้องกันมิให้โรงรับจำนำเอกชนเอารัดเอาเปรียบประชาชนผู้มาจำนำ โดยกดราคา หรือ เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา หรือเรียกค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในราคาสูง







อัตราดอกเบี้ยสถานธนานุบาล


สำหรับเงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท : 0.25 % ต่อเดือน

สำหรับเงินต้น 5,001 - 15,000 บาท : 1.00 % ต่อเดือน

สำหรับเงินต้นเกิน 15,000 บาท : เงินต้น 2,000 บาทแรก 2 % (ส่วนที่เกิน 2,000 บาท 1.25 % ต่อเดือน)



(ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร)




อัตราดอกเบี้ยสถานธนานุเคราะห์


สำหรับเงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.25 % ต่อเดือน

สำหรับเงินต้น 5,001 บาท แต่ไม่เกิน 10,000 บาท คิดดอกเบี้ย 0.75 % ต่อเดือน

สำหรับเงินต้น 10,001 บาท แต่ไม่เกิน 20,000 บาท คิดดอกเบี้ย 1.00 % ต่อเดือน

สำหรับเงินต้น 20,001 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท คิดดอกเบี้ย 1.25 % ต่อเดือน



(ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานสถานธนานุเคราะห์)




อัตราดอกเบี้ยโรงรับจํานําเอกชน


มูลค่าของทรัพย์สินไม่เกิน 2,000 บาทแรก อัตราดอกเบี้ย 2%

มูลค่าของทรัพย์สินส่วนที่เกิน 2,000 บาทขึ้นไป อัตราดอกเบี้ย 1.25% ( 15% ต่อปี และไม่เกิน 24% ต่อปี )

(ขอบคุณข้อมูลจาก : ThaiPBS)








4 เดือน 30 วัน คืออะไร?

ในส่วนนี้คนอาจจะงง ๆ ว่ามันยังไงกันแน่ อธิบายแบบง่าย ๆ คือ….








ตั๋วจำนำ 1 ใบ มีอายุ 4 เดือน ผ่อนผัน 30 วัน คือ หากครบกำหนด 4 เดือน ลูกค้ายังไม่มาส่งดอกเบี้ย ให้ลูกค้านำตั๋วจำนำ และบัตรประชาชน มาติดต่อยังสถานธนานุบาลภายใน 30 วัน และหากภายใน 30 วันยังไม่มาติดต่อ ทรัพย์จำนำนั้น ก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสถานธนานุบาล หรือโรงรับจำนำนั้น ๆ ตามกฎหมาย ทั้งนี้หากทรัพย์นั้นยังไม่ทำการประมูลทรัพย์หลุดจำนำค่ะ เพราะทางสถานธนานุบาลจะให้โอกาสลูกค้าได้มาติดต่อทำเรื่องขอซื้อทรัพย์คืนได้






การจ่ายดอกเบี้ยโรงรับจํานํา


ตั๋วจำนำ จะลงวันที่ ณ วันที่ ที่ลูกค้ามาติดต่อจำนำ ส่งดอกเบี้ยหรืออื่น ๆ และจะเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันดังกล่าวตามหน้าตั๋วใบล่าสุด หากลูกค้ามาส่งดอกเบี้ย ไถ่ถอนหรืออื่น ๆ ภายใน 1-15 วัน จะคิดดอกเบี้ย ครึ่งเดือน





เมื่อเกินกว่า 15 วันขึ้นไป จะคิดดอกเบี้ย หนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันที่ที่มาติดต่อครั้งที่แล้ว (หรือตามวันที่หน้าตั๋วจำนำใบที่เรามาติดต่อในครั้งล่าสุด) เช่น เรามาจำนำในวันที่ 1 มีนาคม 2563 ในวันที่ 5 มีนาคม 2563 เราต้องการมาไถ่ถอนของละ เราจะต้องเสียดอกเบี้ยเป็นเวลาครึ่งเดือน หรือ ในวันที่ 2 เมษายน 2563 เราต้องการมาส่งดอกเบี้ย เราจะต้องเสียดอกเบี้ย เป็นเวลา 1 เดือนครึ่ง





ถ้าตั๋วจำนำครบกำหนด 4 เดือน ตรงกับวันหยุด
แล้วไม่ได้มาส่งดอกหรือไถ่ถอน ถือว่าตั๋วจำนำขาดอายุหรือเปล่า?



ตั๋วรับจำนำมีอายุ 4 เดือน 30 วันตามที่อธิบายไว้ข้างต้น ทีนี้...ถ้าตั๋วรับจำนำครบกำหนดวันที่ที่จะส่งดอกเบี้ย หรือ ไถ่ถอน ตรงกับวันเสาร์ - อาทิตย์ หรือ วันหยุดนักขัตฤกษ์ พี่โปรแนะนำให้มาในวันที่ที่เปิดทำการวันแรก โดยไม่คิดดอกเบี้ยเพิ่ม เช่น ถ้าตั๋วครบกำหนดสี่เดือนในวันเสาร์ ซึ่งโรงจำนำปิดทำการ ก็สามารถมาส่งดอกหรือไถ่ถอนได้ในวันจันทร์ คิดดอกเบี้ย 4 เดือน แต่ถ้าเลยวันจันทร์มา 1 วัน แต่ไม่เกิน 15 วัน คิดเพิ่ม ครึ่งเดือน แต่ถ้าเกิน 15 วันขึ้นไปจนครบระยะเวลาผ่อนผัน คิดดอกเบี้ย 1 เดือนเต็ม





แต่อย่าลืมจนหมดระยะเวลาผ่อนผัน 30 วันนะคะ จะถือว่าเป็น “ทรัพย์หลุดจำนำ” ทันที แต่เราสามารถทำเรื่องขอซื้อคืนได้




กรณีตั๋วรับจำนำหายจะดำเนินการอย่างไร?


1. ให้เจ้าของตั๋วมาติดต่อที่เจ้าหน้าที่ของโรงรับจำนำที่ได้ทำการจำนำทรัพย์สินเอาไว้ พร้อมกับแสดงบัตรประชาชนเพื่อแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เจ้าหน้าที่จะทำการออก “ใบแทน” หรือ “ใบแจ้งตั๋วรับจำนำสูญหาย” ให้กับผู้ใช้บริการ



2. ผู้ใช้บริการนำ “ใบแทน” หรือ “ใบแจ้งตั๋วรับจำนำสูญหาย” ที่โรงรับจำนำสาขานั้น ๆ ออกให้ไปติดต่อที่สถานีตำรวจ ภายในระยะเวลา 3 วันหลังจากที่แจ้งกับทางโรงรับจำนำเพื่อทำการลงบันทึกประจำวันให้เป็นหลักฐาน



3. นำใบบันทึกประจำวัน และ “ใบแทน” หรือ “ใบแจ้งตั๋วรับจำนำสูญหาย” ที่โรงรับจำนำออกให้ กลับมาติดต่อกับเจ้าหน้าที่โรงรับจำนำอีกครั้ง เพื่อทำการส่งดอกหรือไถ่ถอนต่อค่ะ






หากใครกำลังเดือดร้อนเรื่องเงิน แทนที่จะไปยืมเพื่อนหรือคนใกล้ตัว พี่ promotion แนะนำให้ไปโรงรับจำนำเลยค่ะ ไม่ต้องเดือดร้อนใคร และรับผิดชอบการหมุนเงินไม่ทันด้วยตัวเองด้วยการจ่ายดอกเอง แมน ๆ ค่า!



สรุปก่อนไปจำนำที่โรงรับจำนำ



• จำนำ “ทอง” จะได้ราคาดีที่สุด และโรงรับจำนำทุกที่รับ

• Notebook และ Smartphone ส่วนมากโรงรับจำนำจะไม่รับค่ะ หรือถ้ารับจำนำ จะได้ราคาที่ต่ำมาก แนะนำให้ไปขายตามที่ตู้ตามห้างไอทีจะได้ราคากว่า

• ถ้าเราส่งดอกไม่ครบภายในเวลาที่กำหนด ของ ๆ ที่เราไปจำนำ จะกลายเป็น “ทรัพย์หลุดจำนำ” ทันที โดยเฉพาะเมื่อเราไปจำนำที่โรงรับจำนำของรัฐ วันเวลาต้องเป๊ะนะคะ ให้ดูตั๋วรับจำนำดี ๆ ว่ามันลงวันที่เท่าไร